วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หล่มภูเขียว” แอ่งน้ำสีมรกต ความงามลึกลับแห่งลำปาง

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

“หล่มภูเขียว” แอ่งน้ำสีมรกต ความงามลึกลับแห่งลำปาง
"หล่มภูเขียว" แอ่งน้ำสีเขียวมรกตขนาดใหญ่ (ภาพ : ศุภสวัสดิ์ เพียรธัญกรณ์)
        ในพื้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีความงดงามอันลึกลับของธรรมชาติแอบซ่อนอยู่ นั่นคือ “หล่มภูเขียว” แอ่งน้ำขนาดใหญ่บนภูเขา ผืนน้ำมีสีเขียวมรกตงดงามสงบนิ่ง แต่ไม่อาจหยั่งถึงความลึกว่ามากมายเพียงใด 
      
       “หล่มภูเขียว” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เนื้อที่ราว 1-2 ไร่ มีความลึกมากจนมองเห็นเป็นสีเขียวมรกตสวยงาม ความลึกนั้นไม่สามารถระบุได้ สันนิษฐานว่าแอ่งแห่งนี้เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกในสมัยดึกดำบรรพ์ หรืออาจเกิดจากการยุบตัวของหินปูนซึ่งเคยเป็นเพดานถ้ำมาก่อน แล้วจมลงใต้น้ำ เรียกว่าหลุมยุบ (Sink Hole) ต่อมาจึงกลายเป็นแหล่งรับน้ำ และมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
“หล่มภูเขียว” แอ่งน้ำสีมรกต ความงามลึกลับแห่งลำปาง
สันนิษฐานว่าบึงแห่งนี้เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลก (ภาพ : ศุภสวัสดิ์ เพียรธัญกรณ์)
       
“หล่มภูเขียว” แอ่งน้ำสีมรกต ความงามลึกลับแห่งลำปาง
บริเวณโดยรอบเป็นป่าดิบแล้งร่มรื่น (ภาพ : ศุภสวัสดิ์ เพียรธัญกรณ์)
        ธรรมชาติโดยรอบหล่มภูเขียวเป็นป่าดิบแล้ง มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านได้เดินป่าเข้ามาพบแหล่งน้ำสีเขียวมรกตอยู่ภายใต้หุบเขาดังกล่าว จึงเรียกชื่อว่า "หล่มภูเขียว" ส่วนหุบเขาอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกันแต่ไม่มีน้ำ เรียกว่า "หล่มแล้ง" ชาวบ้านเชื่อว่าหล่มภูเขียวเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีพญางูใหญ่อาศัยอยู่ จึงได้ทำพิธีบูชาน้ำเป็นประจำทุกปี
      
       มีเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า สมัยก่อนชาวบ้านจะนำขันข้าวพร้อมดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา โดยนำไปวางบนขอนไม้และลอยไปกลางลำน้ำเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบึงน้ำ และได้เกิดปรากฏการณ์ขอนไม้จมลงไปใต้น้ำแล้วลอยขึ้นมา โดยที่เทียนยังไม่ดับ จึงเกิดความเชื่อว่าแหล่งน้ำนี้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ชาวบ้านจึงนำน้ำจากหล่มภูเขียวมาใช้ดื่มกินและอธิษฐานขอให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ และนำไปใช้ในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านตามความเชื่อสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน
      
       บริเวณโดยรอบหล่มภูเขียวล้อมรอบไปด้วยผาหินปูนสูงชัน มีความร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่โดยรอบ บรรยากาศของป่าเขาอันเงียบสงบผสมกับความเรียบนิ่งของผิวน้ำสีเขียวมรกตที่ลึกจนไม่สามารถหยั่งถึงนี้ ทำให้เกิดความงดงามอันลึกลับ สะกดสายตาของผู้ที่ได้มาเยือน
“หล่มภูเขียว” แอ่งน้ำสีมรกต ความงามลึกลับแห่งลำปาง
บึงน้ำล้อมรอบด้วยผาหินปูนสูงชัน (ภาพ : ศุภสวัสดิ์ เพียรธัญกรณ์)
       
“หล่มภูเขียว” แอ่งน้ำสีมรกต ความงามลึกลับแห่งลำปาง
ความงามอันลึกลับของ อ.งาว จ.ลำปาง (ภาพ : ศุภสวัสดิ์ เพียรธัญกรณ์)
        สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาชมความงามอันลึกลับของหล่มภูเขียว มีข้อแนะนำและข้อห้ามก็คือควรให้ความเคารพสถานที่ ไม่ทิ้งขยะ ไม่จับปลา ไม่นำปลามาปล่อย และไม่ให้อาหารปลา เนื่องจากจะทำให้น้ำเน่าเสีย ไม่นำเท้าลงไปแช่ในน้ำ ไม่ลงเล่นน้ำ และไม่ทำลายป่า
      
       นอกจากนั้น ในบริเวณใกล้เคียงก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทอีกมากมาย เช่น “ถ้ำผาไท” ถ้ำหินปูนที่มีหินงอกและหินย้อยที่สวยงามอยู่ตลอดเส้นทางเดิน ภายในถ้ำมีรอยจารึกพระปรมาภิโธยย่อ “ป.ป.ร.” ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงจารึกไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสถ้ำผาไทในปี 2469 “น้ำตกแม่แก้” น้ำตกขนาดเล็ก เกิดจากลำห้วยแม่แก้ สูงประมาณ 10 เมตร มีชั้นเล็กๆ น้อยๆ ลดหลั่นกันอีก 14 ชั้น สามารถลงเล่นน้ำได้ “อ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม” สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีชื่อเสียงของจังหวัดลำปาง สามารถล่องแพหรือเรือชมทิวทัศน์ของทะเลสาบและเกาะกลางน้ำได้อีกด้วย
       หล่มภูเขียว” อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านอ้อน อำเภองาว จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จากเส้นทางสายลำปาง-พะเยา เข้าไปสู่ ต.บ้านอ้อน อ.งาว เข้าไปเป็นระยะทาง 14 กม. และแยกไปหล่มภูเขียวอีกประมาณ 3.5 กม. (อยู่ห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านอ้อนมาทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 6 กม.) จากถนนใหญ่ไปจนถึงโรงเรียนบ้านอ้อนเป็นถนนลาดยาง แต่หลังจากนั้นจะเป็นทางลูกรัง ควรใช้รถกระบะในการเดินทางเข้าถึง
      
       ผู้ที่สนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โทร. 08-3203- 7330, 0-5422-0364 หรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในจังหวัดลำปางได้ที่ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ (ดูแลพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง) โทร. 0-5324-8604-5
          
       

      
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น